วันนี้จะพามารู้จักหนังไทยที่เผยปัญหาวงการมวยได้สมจริงจนน่ากลัว ด้วยการฉายภาพเมื่อ 20-30 ปีก่อน ยุคที่ “การพนัน” มีอำนาจสั่ง “ล้มมวย” โดยตั้งชื่อเรื่องตามชื่อศิลปะมวยไทยประจำถิ่นของอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั่นคือ “ไชยา”

หเรื่องเริ่มต้นที่มิตรภาพและความรักในกีฬามวยของเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ เผ่า เปี๊ยก และ สะหม้อ ทั้งสามโตมากับศิลปะมวยไชยา และมีความฝัน คือ การได้ขึ้นชกบนเวทีราชดำเนินตามรอยพี่ชายของเผ่า ผู้เป็นฮีโร่ของพวกเขา

เมื่อทั้งสามได้เดินทางไปอยู่ค่ายมวยที่กรุงเทพฯ พวกเขากลับพบว่า โลกแห่งความเป็นจริงของวงการมวยไทย มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะผลแพ้ชนะไม่ได้มาจากวินัยในการซ้อม ไม่ได้มาจากการชกด้วยเทคนิคหรือแม่ไม้มวยไทย แต่มันขึ้นอยู่กับ “การพนัน” ที่มีราคาต่อรองเป็นตัวกำหนดว่านักมวยแต่ละคนต้องชกอย่างไร

ที่แย่ไปกว่านั้น เปี๊ยกและสะหม้อต้องหลุดออกวงจร “นักมวย” เบนเข็มเข้าสู่การเป็น“นักเลง” อย่างเต็มตัว เพียงเพราะเปี๊ยกต่อยไม่ได้ดั่งใจ  เปี๊ยกและสะหม้อต้องทำงานที่ทรยศต่อกีฬามวย  คือ มีหน้าที่ติดต่อนักมวยให้ “ล้มมวย” หากนักมวยเล่นด้วยก็ไม่มีปัญหา หากนักมวยคนใดไม่ยอมพวกเขาก็จะซ้อมหรือวางยา หรืออาจถึงขั้น“ฆ่า” ในขณะเดียวกัน เผ่า ซึ่งเป็นคนเดียวที่มีอาชีพ “นักมวย” ก็ต้องเจอกับเรื่องร้าย เมื่อเจ้าของค่ายมวยสั่งให้เขา “ล้มมวย” พร้อมกับสร้างปมคาใจสำคัญด้วยการบอกว่า “พี่ชายผู้เป็นฮีโร่ของเขาก็เคยล้มมวย”

สามหนุ่มผู้รักศิลปะมวยไชยาจะเผยให้ผู้ชมเห็นว่า “การพนันมีอานุภาพต่อวงการมวยไทยเพียงใด” การตัดสินใจของเผ่าจะสะท้อนให้เห็นว่า วงจรนี้ คือเรื่องปกติของวงการมวย